ใส่บาตรอย่างไร..ให้พระสงฆ์มีสุขภาพดี Photo By pixabay / suc
การตักบาตร เป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธเชื่อกันว่าเป็นการสร้างกุศลและแผ่กุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ ทำให้หลายคนเลือกสรรอาหารที่รสชาติอร่อยหรือเป็นของโปรดของแต่ละบุคคล จนลืมคำนึงถึงปัญหาสุขภาพของพระภิกษุที่จะตามมาจากอาหารใส่บาตรที่ไม่ได้โภชนาการ
ผลการสำรวจสุขภาพพระสงฆ์จากทั่วประเทศว่า พระสงฆ์เกินครึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอาการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะไขมันในเลือดสูง และยังพบว่าพระสงฆ์เกือบครึ่งมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
โดยมีการศึกษาพบว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระสงฆ์อาพาธเป็นโรคเรื้อรัง อาจเกิดจากอาหารที่ประชาชนนิยมนำมาใส่บาตร ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นอาหารไขมันสูง หรือเป็นอาหารที่ไม่ถูกหลักอนามัย พร้อมกันนี้ยังพบว่าพระสงฆ์ดื่มกาแฟและเครื่องดื่มชูกำลังในระดับเกินความเหมาะสม
ใส่บาตรอย่างไร : พระสุขภาพดี
พุทธศาสนิกชนที่จะไปทำบุญตักบาตร ควรเลือกอาหารตักบาตรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของพระสงฆ์
- เลือกอาหารไขมันต่ำ สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ เช่น ปลานึ่ง แกงเลียง แกงส้ม น้ำพริก ผักสด ผักต้ม เป็นต้น
- ตักบาตรด้วยข้าวกล้องแทนข้าวขาว
- เลี่ยงอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ใหญ่ ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวสูง ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันจนเกินไป เน้นอาหารจำพวกเนื้อปลา ไข่ขาว เต้าหู้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เนย เนยแข็ง ครีม ไอศกรีม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ได้แก่ เค้ก พาย คุกกี้ ไส้กรอก แฮม เบคอน หรืออาหารที่ทอดในน้ำมันมาก เช่น ปาท่องโก๋ มันฝรั่งทอด ไก่ทอด
- เลือกเครื่องดื่มสุขภาพ เช่น น้ำดื่มสะอาด นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้รสธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงการถวายน้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มชูกำลัง หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมในปริมาณมาก
- เลือกผลไม้สด แทนถวายอาหารหวานจัดที่ให้พลังงานสูง
- เลือกผักที่ปลอดสารพิษ และล้างผักให้สะอาดถูกวิธีก่อนปรุงอาหาร
การเลือกอาหารดีมีคุณภาพใส่บาตร จะทำให้พระภิกษุสุขภาพดี ผู้ถวายก็ได้รับอานิสงส์บุญนึ้ทุกประการ
บทความโดย...สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข / กลุ่มงานสุขศึกษา รพ.ลำปาง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น