ฟันผุ อย่าชะล่าใจ!! เพราะมันคือสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจ
เพราะฟันผุสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย รวมทั้งยังเกิดในเด็กทารกได้ด้วย โดยหลังจากการดูดนมเสร็จ ควรมีการดูดนํ้าตามเพื่อทำความสะอาดคราบนํ้าตาลที่ติดตามฟัน เพราะนํ้าตาลในนมสามารถทำให้เกิดฟันผุได้
Photo By medstom.com
ส่วนเด็กในวัยเรียนก็มักจะชอบรับประทานขนมหวาน ลูกอม ขนมขบเคี้ยว สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เกิดฟันผุได้ สำหรับช่วงวัยรุ่นและวัยทำงานพอเติบโตขึ้นการทานขนมเหมือนกับวัยเด็กก็จะลดลง ฟันผุก็ลดลงกว่าวัยเด็ก แต่ในกลุ่มผู้ใหญ่จะพบโรคเหงือกมากขึ้น ซึ่งถ้าไม่ดูแลรักษาก็จะลุกลามกลายเป็นโรคเหงือกอักเสบได้
ฟันที่ผุจะเริ่มจากรูเล็ก ๆ หากปล่อยทิ้งไว้นิ่งนอนใจ ไม่รีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษา ก็จะกลายเป็นรอยผุที่ขยายใหญ่ขึ้นและอาจลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น โดยเชื้อโรคจะลุกลามไปที่รากฟัน เกิดหนอง ส่งผลเสียต่ออวัยวะสำคัญข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็น ตา โพรงไซนัส และสมอง หรืออาจจะมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเชื้อโรค ยังสามารถแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดไปตามอวัยวะต่าง ๆ ได้ รวมถึงสามารถส่งผลเสียต่อโรคหัวใจได้ด้วย
Photo By intranet.tdmu.edu.ua
ฟันผุไปเกี่ยวข้องอย่างไรกับหัวใจ ?
จากที่มีการตรวจพบเชื้อโรคที่ทำให้เกิดฟันผุ คือ “สเตร็ปโตคอคคัส” ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวที่ตรวจพบที่เยื่อบุหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ ดังนั้น จึงเกิดการตื่นตัวในการป้องกันรักษาสุขภาพฟัน เพื่อไม่ให้โรคฟันผุไปทำให้โรคหัวใจทวีความรุนแรงขึ้นหรือมีผลเสียต่อโรคหัวใจ
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องความเข้าใจกันก่อนว่า โรคหัวใจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แม้ว่าจะมีการศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของโรคหัวใจจากฟันผุ แต่ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว ยังไม่มีงานวิจัยที่รับรองว่า ฟันผุทำให้เกิดโรคหัวใจได้หรือไม่ แต่พบว่ามีผลเสียต่อโรคหัวใจ
เมื่อใดที่มีเลือดออกในช่องปาก เชื้อแบคทีเรียในช่องปากจะสามารถเข้าไปในกระแสเลือดได้ และเมื่อผู้ป่วยโรคหัวใจมีอาการปวดฟันมาเข้ารับการรักษา อาจจะต้องให้ผู้ป่วยทานยาปฏิชีวนะก่อนการทำฟันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
Photo By webmd.com
ในขณะที่ฟันมีหน้าที่สำคัญทั้งในเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร ช่วยระบบการย่อยอาหาร หากมีฟันผุหรือสูญเสียฟันไปก็จะบดเคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียดพอ ทำให้กระเพาะอาหารต้องทำการย่อยอาหารหนักขึ้น อาจส่งผลให้สุขภาพทรุดโทรมลงได้อีกทางหนึ่งการดูแลรักษาฟันอย่างถูกวิธี จึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้ฟันคงอยู่กับเราไปนานๆ การดูแลสุขภาพฟันมีหลักใหญ่อยู่ 3 ประการ คือ
1. แปรงฟันให้สะอาดถูกวิธีอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารที่มีน้ำตาลผสมเยอะ
3. พบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันทุกๆ 6 เดือน
เมื่อฟันผุส่งผลเสียต่อร่างกายแบบนี้แล้ว ก็ควรหันมาใส่ใจปัญหาช่องปากกันให้มากเข้าไว้ เพื่อจะได้มีฟันไว้ใช้งานได้นาน ๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก : ทันตแพทย์หญิงนฤมล ทวีเศรษฐ์ งานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล / http://med.mahidol.ac.th/ramachannel/index.php/knowforhealth-19122558/
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น