WHAT'S NEW?
Loading...

ปวดประจำเดือน ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?


Advertisements


ปวดประจำเดือน หมายถึง อาการปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน ซึ่งมักจะเป็นประจำอยู่ทุกเดือน ส่วนใหญ่จะปวดไม่มากและสามารถทำงานได้ตามปกติ ส่วนน้อยที่อาการรุนแรงจนต้องพักงาน ในรายที่ปวดรุนแรงขึ้นทุกเดือน หรือเริ่มปวดครั้งแรกหลังอายุ ๒๕ ปี ก็อาจมีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ


► ชื่อภาษาไทย ปวดประจำเดือน

► ชื่อภาษาอังกฤษ Dysmenorrhea

► สาเหตุ ปวดประจำเดือนแบ่งได้เป็น ๒ ชนิด ได้แก่

๑. ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (primary dysmenorrhea) จะพบในเด็กสาว ส่วนมากจะมีอาการตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งแรกหรือไม่ก็เกิดขึ้นภายใน ๓ ปีหลังมีประจำเดือนครั้งแรก จะมีอาการมากที่สุดในช่วงอายุ ๑๕-๒๕ ปี หลังจากวัยนี้อาการจะค่อยๆ ลดลง บางรายอาจหายปวดหลังแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีบุตรแล้ว ส่วนน้อยที่ยังมีอาการตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน

ผู้ป่วยจะไม่พบว่ามีความผิดปกติของมดลูกและรังไข่แต่อย่างใด ปัจจุบันเชื่อว่า มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน และมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) ออกมามากผิดปกติซึ่งกระตุ้นให้มดลูกมีการบิดเกร็งตัว เกิดอาการปวดประจำเดือน

๒. ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (secondary dysmenorrhea) มักจะมีอาการปวดครั้งแรก เมื่ออายุมากกว่า ๒๕ ปีขึ้นไป โดยก่อนหน้านี้จะไม่เคยมีอาการปวดประจำเดือนมาก่อน มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ เช่น เยื่อบุมดลูกต่างที่ (endometriosis) ซึ่งมักทำให้มีบุตรยาก เนื้องอกมดลูก ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง มดลูกย้อยไปทางด้านหลังมาก

เชื่อว่าอารมณ์มีส่วนเสริมความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนทั้ง ๒ ชนิด เช่น พบว่าผู้มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายหรือมีความเครียดจะมีอาการปวดรุนแรงมากกว่าผู้ที่มีอารมณ์ดี

► อาการ จะเริ่มมีอาการก่อนมีประจำเดือนไม่กี่ชั่วโมง และเป็นอยู่ตลอดช่วง ๒-๓ วันแรกของประจำเดือน โดยมีอาการปวดบิดเป็นพักๆ ที่บริเวณท้องน้อย บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ใจคอหงุดหงิดร่วมด้วย ถ้าปวดรุนแรงอาจมีอาการเหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็นได้

► การแยกโรค ผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องน้อย อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่บังเอิญมาเกิดอาการช่วงมีประจำเดือนก็ได้ เช่น

o ไส้ติ่งอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ติดต่อกันนานกว่า ๖ ชั่วโมง มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย เดินกระเทือนถูก หรือกดถูกบริเวณนั้นจะมีอาการเจ็บปวด (ซึ่งอาการนี้จะไม่พบในอาการปวดประจำเดือน)

o ปีกมดลูกอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและกดเจ็บตรงบริเวณท้องน้อย ร่วมกับมีอาการไข้สูง อาจมีอาการตกขาวร่วมด้วย (อาการปวดประจำเดือน จะไม่มีไข้)

o นิ่วท่อไต ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดเกร็งตรงบริเวณท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่ง และมักมีอาการปวดร้าวลงมาที่ช่องคลอดข้างเดียวกัน (ไม่มีไข้และกดถูกไม่เจ็บแบบเดียวกับอาการปวดประจำเดือน)

ผู้ที่เคยมีอาการปวดประจำเดือนมาก่อน หากมีอาการปวดท้องน้อยที่มีลักษณะที่ไม่เหมือนที่เคยเป็น เช่น ปวดรุนแรงหรือติดต่อกันนานกว่าปกติ กดถูกหรือกระเทือนถูกรู้สึกเจ็บ มีไข้ขึ้นหรือมีอาการตกขาวร่วมด้วย ก็ควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ก็ได้

► การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน ซึ่งเป็นอยู่ประจำทุกเดือน โดยไม่มีไข้ กดถูกไม่เจ็บ ในกรณีที่สงสัยว่า เป็นปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ หรือเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ ใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง เป็นต้น

► การดูแลตนเอง

๑. นอนพัก ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบ

๒. กินยาแก้ปวด-พาราเซตามอล หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) ครั้งละ ๑ เม็ด ซ้ำได้ทุก ๔-๖ ชั่วโมง

๓. ควรปรึกษาแพทย์ ถ้าปวดรุนแรง หรือกินยาแก้ปวดไม่ทุเลา หรือกดถูกเจ็บ มีไข้ ตกขาว มีประจำเดือนออกมากกว่าปกติ หรือหลังแต่งงานแล้วยังมีอาการปวดประจำเดือนและมีบุตรยาก หรือสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุอื่น

► การรักษา

กรณีที่เป็นปวดประจำเดือนปฐมภูมิ แพทย์จะให้ยาบรรเทาปวด ถ้ามีอาการปวดบิดเกร็งมาก แพทย์อาจให้ยาต้ายการบิดเกร็ง (แอนติสปาสโมติก) เช่น ไฮออสซีน (hyoscine)

รายที่ปวดประจำเดือนรุนแรงเป็นประจำ หากตรวจแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ (ไม่ใช่ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ) แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินยาเม็ดคุมกำเนิด (กินแบบเดียวกับการใช้คุมกำเนิด คือวันละ ๑ เม็ดทุกคืน) เพื่อไม่ให้มีการตกไข่ จะช่วยไม่ให้ปวดได้ระยะหนึ่ง อาจให้ติดต่อกันนาน ๓-๔ เดือน แล้วลองหยุดยา ถ้าหากมีอาการกำเริบใหม่ ก็ควรให้กินต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง จนกว่าเมื่อหยุดยาแล้ว อาการปวดประจำเดือนทุเลาไป

ในรายที่ตรวจพบมีสาเหตุผิดปกติ (เป็นปวดประเดือนชนิดทุติยภูมิ) แพทย์ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก

► ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ส่วนในรายที่เกิดจากเยื่อบุมดลูกต่างที่ อาจทำให้มีบุตรยาก หรือในรายที่เกิดจากเนื้องอกมดลูกอาจทำให้ตกเลือดมากจนเกิดภาวะซีด หรือก้อนโตมากอาจกดทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้

► การดำเนินโรค

ในรายที่เป็นปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิมักจะทุเลาเมื่ออายุมากกว่า ๒๕ ปี หรือหลังแต่งงานหรือมีบุตรแล้ว

ในรายที่เป็นปวดประจำเดือนทุติยภูมิ ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการปวดมักจะเป็นรุนแรงขึ้นทุกเดือน และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ถ้าได้รับการรักษา อาการปวดประจำเดือนก็จะหายไปได้

► ความชุก

พบได้ประมาณร้อยละ ๗๐ ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์




ข้อมูลสื่อ
ชื่อไฟล์: 377-011 นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 377
เดือน/ปี: กันยายน 2553
คอลัมน์: สารานุกรมทันโรค
Advertisements

Advertisements

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น