ติ่งเนื้อผิวหนัง ปล่อยทิ้งไว้..จะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่? พร้อมวิธีลดความเสี่ยง!!
“ติ่งเนื้อ” ส่วนเกินที่สร้างความน่ารำคาญ อาการคัน และสร้างความกังวลต่อสภาพผิวหนัง ที่หลายคนสงสัยว่าอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือเป็นการบ่งบอกโรคอื่น
หลายคนอาจจะงุนงงกับคำว่า “ติ่งเนื้อ” ว่าคืออะไร หากสังเกตผิวหนังรอบๆ ตัว มีสิ่งที่เหมือนก้อนเนื้อปูดออกมาแบบผิดปกติ นอกจากนี้ยังสร้างความงุนงงเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ ว่าติ่งเนื้อเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และหากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดอันตรายแต่ร่างกาย หรือเป็นสัญญาณบอกโรคร้ายอื่นๆหรือไม่ และมีวิธีการรักษาไม่ให้มากวนใจได้หรือเปล่า “เดลินิวส์ออนไลน์” พาไปไขข้อสงสัยของเจ้า “ติ่งเนื้อ” จากปากคุณหมอมาฝากกันค่ะ
รศ.พญ. ณัฐฏา รัชตะนาวิน หน่วยโรคผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า “ติ่งเนื้อ” เป็นผิวหนัง มีลักษณะก้างติดผิวหนัง สีเหมือนผิวหนังหรืออาจเข้มกว่า ลักษณะเป็นตุ่มที่ยื่นออกมา นิ่มๆ เป็นเนื้อเยื่อ และมีเส้นเลือดเล็กๆ ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่ชัดเจน แต่มักพบติ่งเนื้อเกิดขึ้นในบริเวณที่ผิวหนังมีการเสียดสีต่อเนื่องกับผิวหนังด้วยกัน มักพบได้บริเวณรอบคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ หรือใบหน้า และพบได้ทั่วไปทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อายุ 30-50 ปี ขึ้นไป
“ติ่งเนื้อผิวหนัง” โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดอาการอะไร ไม่เปลี่ยนไปเป็นมะเร็ง และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
แต่การมีจำนวนติ่งเนื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับ “เนื้องอกในลำไส้” แต่ยังไม่มีหลักฐานข้อมูลที่ชัดเจน เพราะปกติแล้วติ่งเนื้อจะไม่ค่อยสัมพันธ์กับโรคภายในร่างกาย เป็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงในวัยที่เพิ่มขึ้น หรือเป็นพันธุกรรมมากกว่า
ติ่งเนื้อที่พบในผู้ใหญ่มักจะเป็นถาวร หากไม่ได้ทำการตัดออก แต่หากเป็นติ่งเนื้อขนาดใหญ่ เช่นขนาดเกิน 5 มิลลิเมตร หรือโตเร็วผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ ตรวจเช็ดว่าเป็นติ่งเนื้อธรรมดา หรือเป็นเนื้องอกที่มีอันตราย
วิธีการรักษา ในบางรายที่มีปัญหาในภาพลักษณ์ ต้องการรักษา แพทย์จะให้การรักษาโดยทำการตัดออก โดยใช้ใบมีด กรรไกร จี้ไฟฟ้า การเลเซอร์ และการใช้ความเย็น ไนโตรเจนเหลว หลังรักษาอาจจะมีแผลตื้นๆ ควรทายาและดูแลให้สะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม “ติ่งเนื้อผิวหนัง” ไม่ใช่เนื้อร้ายเนื้องอกมะเร็ง และมักไม่ก่ออาการหรือผลข้างเคียงใดๆ นอกจากมีการเสียดสีกับเสื้อผ้า หรือเครื่องประดับ ที่อาจก่อให้เกิดอาการคัน ความรำคาญ หรือเป็นปัญหาด้านความสวยงาม
ดังนั้น การลดความเสี่ยงเป็นติ่งเนื้อก็คือ การใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบายและเลือกใส่เครื่องประดับที่เหมาะสม เพื่อลดการเสียดสีนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลและคำแนะนำจาก : รศ.พญ. ณัฐฏา รัชตะนาวิน หน่วยโรคผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/Content/30765-ไร้กังวลปัญหา/’ติ่งเนื้อ/’%20ไม่ใช่เนื้อร้าย%20.html
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น