ก้มดูมือด่วน! ถ้าเล็บสีซีดแบบนี้... นั่นคือสัญญาณขาดสารอาหาร
พญ.ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เล็บที่ผิดปกติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซี่งอาจจะเกิดจากการติดเชื้อ สารเคมีที่ก่อการ ระคายเคือง การกระแทก มะเร็ง หรือเกิดจากโรคทางกายอื่นๆ การสังเกตลักษณะของเล็บ ทำได้ง่ายๆ ดังนี้
1. สังเกตุความหนา-บาง ว่าผิดปกติหรือไม่
– เล็บหนามาก คือเล็บผิดปกติ มีหลายโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคเชื้อรา ที่นอกจากเล็บหนาขึ้นแล้ว เล็บอาจมีสีเปลี่ยนร่วมด้วยเป็นสีเหลืองหรือขาว ผิวเล็บและส่วน ปลายเล็บอาจขรุขระ นอกจากนี้ โรคสะเก็ดเงิน ก็อาจจะมีส่วนทำให้เล็บหนาได้ โดยโรคสะเก็ดเงินมักจะมีอาการเล็บหนาหลายเล็บ ตรงข้ามกับโรคเชื้อราที่เป็นเพียง บางเล็บ
– เล็บบางมากกว่าปกติ อาจเกิดจากโรคโลหิตจาง ที่ขาดธาตุเหล็ก เล็บจะมีลักษณะบางและแอ่นคล้ายช้อน รวมถึงในคนสูงอายุอาจมีเล็บที่บางและเปราะแตกง่าย บริเวณปลายเล็บได้
2. เล็บที่มีพื้นผิวขรุขระ
เป็นอาการที่พบได้บ่อย ผิวเล็บอาจเป็นหลุมเล็กๆ ถ้าเป็นหลายเล็บ อาจบ่งบอกถึงโรคสะเก็ดเงิน หรือโรคภูมิแพ้ได้ แต่อาจพบได้ในเด็กบางคนโดยที่ไม่มีสาเหตุ บาง กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อาจพบเล็บเป็นร่องลึกตามแนวขวางจากการที่เล็บมีการสร้างเล็บผิดปกติขณะป่วย
3. ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง
ในคนที่สัมผัสกับน้ำบ่อยๆ ผิวหนังรอบเล็บอาจมีการเปื่อยยุ่ย จึงเกิดการระคายเคืองจากสารเคมีได้ง่าย เช่น สารเคมีจากน้ำยาล้างจานและน้ำยาทำความสะอาดบ้าน ในบางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อราตามมาได้ เช่นกัน ในผู้ป่วยบางคนที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังที่อ่อนแอนี้ ผิวหนังรอบเล็บอาจบวมแดงและมีหนองร่วมด้วย อาการบวมแดงมักเป็นมาไม่นาน ซึ่งต่างจากคนที่มีผิวหนังรอบเล็บบวมจากการระคายเคืองของสารเคมี
4. เล็บเปลี่ยนสี ภาวะโรคทางกายมีผลกับสีของเล็บได้
– เล็บมีสีดำ อาจเป็นเพราะมะเร็งผิวหนัง เชื้อรา การกระแทก ไฝหรืออาจเป็นขึ้นมาเอง กรณีมะเร็งผิวหนังมีข้อสังเกตคือ ลักษณะเล็บที่ดำจะมีลักษณะเป็นปื้นสีดำสีไม่ สม่ำเสมอ เป็นแค่เล็บเดียว มีประวัติเป็นมาไม่นาน อาจมีผิวหนังที่โคนเล็บเป็นสีดำร่วมด้วย
– เล็บที่มีสีขาวครึ่งเล็บ พบได้ในคนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง
– เล็บที่มีสีขาวสองในสามของเล็บ พบได้ในคนเป็นโรคเบาหวาน โรคตับแข็งและหัวใจวาย
– เล็บที่มีสีขาวเป็นแถบขวางอาจเป็นโรคโปรตีนในร่างกายต่ำ (Hypoalbuminemia) เล็บดังกล่าวเมื่อใช้มือกดไปที่เล็บ สีขาวที่เห็นจะจางลง
5. ปลายเล็บร่น (Onycholysis) ปกติแล้วผิวหนังส่วนปลายจะติดกับเล็บ แต่หากมีโรคบางอย่าง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคไทรอยด์ โรคเชื้อราและโรคผดผื่นผิวหนัง อักเสบ รวมถึงยาบางชนิด อาจทำให้ขอบของผิวหนังที่ติดกับเล็บมีการร่นลงได้
การวินิจฉัยโรคขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาจากอาการที่แสดงออกมา
– เมื่อแพทย์สงสัยว่าเล็บอาจจะเกิดจากเชื้อรา ควรมีการขูดขุยจากบริเวณเล็บที่หนาไปตรวจหาเชื้อราและเพาะเชื้อราแยกชนิดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและพยากรณ์ โรคได้อย่างเหมาะสม
– ในกรณีที่แพทย์สงสัยโรคมะเร็งผิวหนัง อาจต้องทำการตัดชิ้นเนื้อที่ใต้เล็บ เพื่อตรวจลักษณะทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
– ในกรณีที่เล็บบอกถึงโรคทางกาย อาจต้องตรวจเลือด เช่น ตรวจหาระดับธาตุเหล็ก โรคไทรอยด์ โรคไตและโรคตับ
ที่มา : http://med.mahidol.ac.th/ramachannel/index.php/knowforhealth-29122558/
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น