เป็นเชื้อราที่เล็บ...อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม!
ลักษณะที่มีการติดเชื้อราที่เล็บ จะเริ่มต้นด้วยมีจุดสีขาว หรือสีเหลืองที่เล็บ ใต้จุดปลายของเล็บ เมื่อมีการติดเชื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้เล็บมีสีเปลี่ยนไป หนาขึ้น และมีขอบด้าน ๆ รวมทั้งจะมีอาการเจ็บที่เล็บได้ด้วย
ลักษณะที่เชื้อราที่เล็บได้แก่
- เล็บหนาขึ้น
- เล็บแตกเป็นขุย
- มีรูปเล็บที่บิดเบี้ยว
- สีของเล็บจะทึบ ๆ ไม่มันเงา
- อาจจะพบเล็บเป็นสีดำ ถ้ามีเนื้อตายอยู่ภายใต้เล็บ
เล็บที่มีการติดเชื้อจะแยกออกมาจากผิวใต้เล็บ ทำให้ีอาการเจ็บ และอาจจะมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย
เมื่อไหร่ที่ควรจะไปพบแพทย์
เมื่อเริ่มมีการติดเชื้อที่เล็บ หากไม่ทำการรักษาจะทำให้การติดเชื้อนั้นเป็นแบบเรื้อรัง โดยที่ไม่สามารถหายได้เอง ดังนั้นจึงควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก
การติดเชื้อที่เล็บเกิดจากเชื้อราที่มีชื่อเรียกกลุ่มของเชื้อรานี้ว่า dermatophytes แต่ก็อาจจะเกิดจากเชื้อยีสต์หรือเชื้อรากลุ่มอื่นได้
เชื้อโรคกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุ่นและชื้น รวมทั้งในห้องน้ำหรือสระว่ายน้ำ การติดเชื้อจะเข้าไปทางรอยแผลเล็ก ๆ ที่อาจไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือจากตำแหน่งที่มีการฉีกขาดของเล็บกับผิวหนังใต้เล็บ เมื่ออยู่ในอุณหภูมิและความชื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจะทำให้การติดเชื้อลุกลามและมีการกระจายของเชื้อมากขึ้น
การติดเชื้อที่เล็บมักจะเป็นที่นิ้วเท้ามากกว่าที่นิ้วมือ เนื่องจากที่เท้า ทั้งอุณหภูมิและความชื้นเหมาะแก่การเติบโตของเชื้อรา อีกสาเหตุหนึ่งเนื่องจากการไหลเวียนเลือดไปที่นิ้วเท้าจะแย่กว่าที่นิ้วมือ ภูมิคุ้มกันที่ป้องกันการติดเชื้อจึงแย่กว่า
มักจะติดเชื้อในผู้สูงอายุมากกว่า เนื่องจากการไหลเวียนเลือดไม่ดี และในผู้สูงอายุเล็บจะงอกช้ากว่าและหนากว่า ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น
และมักจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และถ้ามีประวัติในครอบครัวก็จะยิ่งพบได้มากกว่าปัจจัยอื่นที่อาจจะทำให้มีการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นได้แก่
- เหงื่อออกมาก
- ทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ชื้นแฉะ
- มีโรคของเล็บอยู่เดิม เช่นสะเก็ดเงินที่เล็บ
- ใส่ถุงเท้ารองเท้าที่อับและไม่ซึมซับเหงื่อ
- เดินเท้าเปล่าในสถานที่เปียก ๆ ในที่สาธารณะเช่น สระว่ายน้ำ ยิม หรือห้องอาบน้ำ
- มีการติดเชื้อผิวหน้งที่เท้า หรือโรคน้ำกัดเท้า
- มีบาดแผลหรือการบาดเจ็บที่ผิวหนังหรือเล็บ
- เป็นโรคเบาหวาน หรือการไหลเวียนเลือดไม่ดี หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง
การติดเชื้อราที่เล็บอาจจะทำให้มีอาการเจ็บ หรืออาจะทำให้มีการทำลายเล็บแบบถาวร และอาจจะนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในคนที่มีโรคเบาหวาน หรือภูมิคุ้มกันไม่ดี อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมได้
การตรวจวินิจฉัย
ถ้าการติดเชื้อค่อนข้างมาก แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจดู แต่เพื่อให้การวินิจฉัยที่ชัดเจน แพทย์จะทำการขูดผิวที่เล็บไปส่งตรวจห้องแลป หรือ การเพาะเชื้อเนื่องจากบ่อยครั้งที่ลักษณะเล็บจากโรคอื่นเช่น สะเก็ดเงินอาจจะมีลักษณะที่คล้ายกันกับการติดเชื้อรา
การรักษา
การติดเชื้อราที่เล็บรักษาค่อนข้างยากและมีโอกาสติดเชื้อซ้ำสูง ยาที่เป็นครีมที่ใช้ทาที่สามารถซื้อตามร้านขายยาทั่วไปมักจะใช้ไม่ได้ผล มักจะต้องให้ยาชนิดรับประทานร่วมด้วย
ยารับประทาน แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อราในการรักษา โดยจากการวิจัยยาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดได้แก่ Terbinafine และ itraconazole
แพทย์จำเป็นจะต้องให้ยารับประทานในกรณีต่อไปนี้
- เป็นเบาหวาน หรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
- เคยมีประวัติการติดเชื้อที่ผิวหนัง cellulites
- มีอาการเจ็บ หรือรำคาญ บริเวณที่มีการติดเชื้อ
- ต้องการรักษาเนื่องจากความสวยงามของเล็บ
ยาที่ได้รับจะช่วยให้เล็บที่งอกขึ้นมาใหม่ไม่มีการติดเชื้อ และจะค่อย ๆ งอกมาแทนที่เล็บส่วนที่มีการติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่แล้วจะได้รับยาอย่างน้อย 6-12 สัปดาห์
แต่กว่าที่เล็บจะกลับมาเป็นปกติอาจจะต้องใช้เวลาอย่้างน้อย 4-6 เดือน หรือจนกว่าเล็บใหม่จะงอกออกมาจนเต็ม และยังต้องระวังการกลับมาติดเชื้อซ้ำอีกด้วย โดยเฉพาะถ้ายังอยู่ในที่อับชื้น
ผลข้างเคียงอาจจะทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรืออาจะทำให้มีตับอักเสบได้ ดังนั้นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนได้รับยา โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคตับ และโรคหัวใจ
ทางเลือกในการรักษาอื่น ๆ แพทย์อาจจะให้การรักษาในการติดเชื้อที่เล็บด้วยวิธีอื่น ๆ ได้แก่:
- ยาทาเล็บฆ่าเชื้อราชนิด ในกรณีที่การติดเชื้อไม่มาก แพทย์อาจจะให้ยาทาที่เรียกว่า ciclopirox (Penlac) ทาที่เล็บและผิวหนังรอบ ๆ วันละหนึ่ง หลังจากครบเจ็ดวันค่อยเช็ดออกด้วยแอลกอฮอล์ และเริ่มทาซ้ำใหม่ โดยให้ทำติดต่อกันหนึ่งปี แต่เนื่องจากวิธีนี้ใช้เวลานานมากจึงไม่เป็นที่นิยม และผลการรักษาไม่แน่นอนอีกด้วย
- ยาชนิดทา แพทย์อาจจะให้ยาทาภายนอกร่วมด้วย โดยเลือกยาที่มีส่วนผสมกับยูเรีย เพื่อช่วยให้การดูดซึมดีขึ้น การใช้ยาทาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้หายขาดได้ เพียงเป็นการรักษาร่วมเท่านั้น อาจจะทำร่วมกับการขูดแต่งเล็บที่หนาซึ่งอาจจะมีเชื้อโรคเพื่อลดปริมาณเชื้อรา
- การผ่าตัด ถ้าการติดเชื้อที่เล็บค่อนข้างรุนแรงหรือว่ามีอาการเจ็บมาก แพทย์จะแนะนำให้ถอดเล็บ แต่เล็บที่งอกขึ้นมาใหม่จะใช้เวลานานมากกว่าจะงอกกลับมาเท่าเดิม
การป้องกันโรค
การดูแลสุขภาพมือและเท้าเป็นสิ่งที่จำเป็นในการช่วยป้องกันการติดเชื้อ หรือหลังรักษาไปแล้วป้องกันการกลับมาติดเชื้อซ้ำ
- พยายามดูแลเล็บให้สั้น แห้ง และสะอาดอยู่เสมอ
- เลือกสวมถุงเท้าที่เหมาะสม เลือกถุงเท้าชนิดที่ดูดซับเหงื่อได้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าอับชื้นเกิินไป ในระหว่างวันอาจจะต้องถอดรองเท้าออกบ้างเป็นครั้งคราว
- ใช้แป้งหรือสเปรย์ป้องกันเชื้อรา
- เมื่อต้องทำงานที่มือต้องเปียกนาน ๆ ให้ใส่ถุงมือยางป้องกันมือ
- หลีกเลี่ยงการตัดผิวหนังบริเวณที่อยู่รอบ ๆ เล็บ
- อย่าเดินเท้าเปล่านอกบ้าน
- แน่ใจว่าร้านทำเล็บได้ใช้เครื่องมือที่ผ่านการฆ่าเชื้อ
- หลีกเลี้ยงยาทาเล็บหรือการต่อเล็บ
ที่มา...Dr.Carebear Samitivej
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น